ประเภทบุคคล
สมเกียรติ
เขื่อนเชียงสา
ลูกชายของสายน้ำ ในอ้อมกอดของแม่
จันทราภา นนทวาสี
มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา
คณะทำงานภูมิภาค ภาคเหนือ
จากเด็กน้อยริมสายน้ำเล็กๆ
ในหมู่บ้าน สู่หนุ่มใหญ่วัยกลางคนที่ทำหน้าที่รับผิดชอบความเปลี่ยนแปลง
ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายใหญ่นาม ลุ่มน้ำโขง ความผูกพันกับสายน้ำที่ไม่เคยจางหาย
ได้ทำให้สมเกียรติเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ประสานงานที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
ในการยุติโครงการระเบิดแก่งของชายแดนไทย-ลาว
เด็กชายสมเกียรติ ถือกำเนิดในหมู่บ้านที่มีลำห้วยสายเล็กๆ ที่อุดมไปด้วยต้นไคร้น้ำ
จึงมีชื่อเรียกขานว่า ห้วยไคร้ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำอิง ในอำเภอเทิง
จังหวัดเชียงราย ชีวิตวัยเยาว์ที่เติบโตและผูกพันกับลำห้วยอันเป็นสถานที่เล่น
แหล่งทำมาหากิน และเป็นเสมือนโรงเรียนบ่มเพาะความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ฝังรากลึกอยู่ในตัวตนของเขา
ก้าวสู่ยุคแห่งการแสวงหา
หลังจากสำเร็จการศึกษา
ครุศาสตร์สาขาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา จากวิทยาลัยครูเชียงราย
ได้เริ่มต้นทำงานในฐานะครูกับพี่น้องชนเผ่าบนดอยแม่สลอง อำเภอแม่จัน
จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำแม่จัน แม่น้ำสายเล็กๆ สายหนึ่งในลุ่มน้ำโขง
ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นเจ้าหน้าที่เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดูแลงานศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ราษีไศล ทำให้ต้องเดินทางไกลจากบ้านเกิดไปยังจังหวัดอุบลราชธานี
และศรีษะเกษ
กระทั่งปี
2543 สมเกียรติคืนสู่ภูมิลำเนา ได้เริ่มจัดทำโครงการแม่น้ำและชุมชน
เพื่อศึกษาการจัดการลุ่มน้ำอิง โดยองค์กรชุมชนเพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ
เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา และศึกษาผลกระทบโครงการผันน้ำ กก อิง น่าน
 
ค้นพบตัวตนการทำงาน
ขณะที่กำลังดำเนินการโครงการแม่น้ำและชุมชนอย่างต่อเนื่อง
จนถึงกลางปี 2545 สมเกียรติทราบข่าวการระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขงระหว่างชายแดนพม่า-ลาว
เหนือบริเวณสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไปราว 200-300 กิโลเมตร และกำลังจะขยายเข้าสู่เกาะแก่งชายแดนไทย-ลาว
ในเขตอำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของและอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
จึงได้ริเริ่มจัดตั้งและทำหน้าที่ผู้ประสานงาน โครงการเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
จากการร่วมตัวของสามองค์กร คือ กลุ่มรักษ์เชียงของ โครงการแม่น้ำและชุมชน
และชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำอิง ภายใต้ปรัชญา เคารพธรรมชาติและศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษย์
เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
เคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์
โดยยื่นจดหมายให้คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภามารับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่
พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาล เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น
ตลอดจนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ รวมทั้งทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ซึ่งใช้เวลาเก็บข้อมูลเพียงสองเดือน จากนั้นมีการส่งหนังสือคัดค้านและเคลื่อนไหวทางสื่อมวลชนเป็นระยะ
กระทั่งเดือนพฤษภาคม
2547 คณะกรรมการประสานงานตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง
ตัดสินใจยุติโครงการระเบิดแก่งในส่วนของชายแดนไทย-ลาว นับได้ว่าเป็นความสำเร็จของกลุ่มคนเล็กๆ
ภายใต้การประสานงานทั้งในแนวราบ ระหว่างชุมชนที่ประสบปัญหาร่วมกัน
และแนวตั้งระหว่างทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม
สมเกียรติได้ตระหนักดีว่า การยุติโครงการดังกล่าวอาจถูกรื้อฟื้นขึ้นมาในอนาคต
การติดตั้งอาวุธทางปัญญาให้กับชาวบ้านในชุมชนริมน้ำโขงจึงถือเป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันอย่างยั่งยืน
ดังนั้น งานวิจัยชาวบ้านโดยการรวบรวมชาวบ้านหลายหมู่บ้านในอำเภอเชียงของและอำเภอเวียงแก่นจึงเกิดขึ้นในช่วงปี
2547-2548 ในชื่อว่า แม่น้ำโขง แม่น้ำแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เพื่ออธิบายถึงระบบนิเวศน์บริเวณคอนผีหลงที่สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลยืนยันถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
กับบรรดาสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขงหากมีการระเบิดแก่ง รวมถึงงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
โครงการศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเชียงของ เวียงแก่น: สังคมชายขอบท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
อันเป็นงานที่รวบรวมประวัติที่น่าสนใจของทั้งสองอำเภอ
งานใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่ถือเป็นผลงานโดดเด่นของสมเกียรติ
คือ การจัดงาน เปิดตำนานวิถีธรรมชาติ วิถีวัฒนธรรมสองฝั่งโขง ระหว่างวันที่
24-25 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเป็นงานที่ขับเน้นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์
ที่อาศัยแม่น้ำโขงเป็นจุดร่วมเดียวในการดำรงชีวิต โดยการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ที่มีทั้งภาควิชาการ
ภาคพิธีกรรมทางสงฆ์ และภาคบันเทิงครบครัน ถือเป็นงานระดับจังหวัด รวมไปถึงพี่น้องที่อยู่ในจังหวัดห้วยทราย
ของประเทศลาว
นอกจากนั้น
สมเกียรติยังได้คำนึงถึงการสืบทอดเรื่องราวของการอนุรักษ์ไปยังเยาวชนรุ่นหลัง
โดยจัดทำเป็นโครงการสื่อชุมชนลุ่มน้ำโขง เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นแก่คนในท้องถิ่น
โดยเฉพาะเด็กนักเรียน มีการนำความรู้จากการวิจัยมาจัดเป็นหลักสูตรท้องถิ่นตามโรงเรียน
เชิญผู้ชำนาญในด้านต่างๆ มาสอนเด็กนักเรียนเพื่อปลูกจิตสำนึกรักท้องถิ่น
และให้ความรู้เรื่องแม่น้ำโขงอันเป็นแหล่งยังชีพของพวกเขา
ทางด้านงานเคลื่อนไหวเพื่อรักษาความสมดุลของแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา
สมเกียรติได้เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำอิงตอนปลาย-ชายฝั่งโขง
ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นแกนนำสำคัญในโครงการรักษ์ปลาบึก
รักษ์แม่น้ำโขง ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรภาคเอกชน และวุฒิสภา
ร่วมกับชมรมปลาบึกอำเภอเชียงของ มีข้อตกลงในการยกเลิกการจับปลาบึกตั้งแต่ฤดูกาลที่ผ่านมา
(เมษายน 2549) และจัดถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวาระครบรอบการครองราชย์
60 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ทั้งยังส่งผลให้มีการเจรจาอย่างไม่เป็นการกับเจ้าเมืองห้วยทราย
เจ้าหน้าที่ และชาวประมงในเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว เพื่อยกเลิกการจับปลาบึกในฤดูกาลต่อไป
(ปี 2550)

โครงการวิทยุชุมชน
นักเขียนประจำคอลัมน์แม่น้ำของแผ่นดิน หนังสือพิมพ์แม่โขงโพสต์ ในโครงการสื่อชุมชนลุ่มน้ำโขง
และการเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มติชน เป็นอีกภารกิจที่ช่วยในการเผยแพร่ความรู้และสามารถระดมความเห็นได้อย่างรวดเร็ว
แม้ปัจจุบันข่าวคราวการรุกรานทำลายแม่น้ำโขงจะเงียบหายไป
แต่ยังมีแม่น้ำอีกหลายสาย ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ที่ถูกย่ำยีโดยน้ำมือของมนุษย์ผู้เห็นแก่ตัวเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
ทำให้สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ไม่อาจหยุดยั้งการเดินหน้าเพื่อทำหน้าที่ผู้พิทักษ์รักษาแม่น้ำ
เพื่อสมกับที่เกิดมาเป็น ลูกชายของสายน้ำ ลงได้
ชื่อนามสกุล:
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา
ที่อยู่: 62 หมู่ 8 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
57140
โทรศัพท์ 09-9557890
อายุ: 38 ปี
การศึกษา: ครุศาสตร์บัณฑิต (เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา
)
วิทยาลัยครูเชียงราย
การทำงาน: ผู้ประสานงานโครงการ : เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
ผลงาน
- พ.ศ.2539
อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำแม่จัน มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา
- พ.ศ.2540
ร่วมโครงรณรงค์สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
- พ.ศ.2541
ร่วมกิจกรรมเครือข่ายประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษทรัพยากรธรรมชาติ
และการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ในพื้นที่ลุ่มน้ำกก-อิง-โขง จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน
- พ.ศ.2542
เจ้าหน้าที่เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูแลงานศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน
ปากมูล ราษีไศล จังหวัดอุบลราชธานี และศรีษะเกษ
- พ.ศ.2543-2544
จัดทำโครงการแม่น้ำและชุมชน เพื่อศึกษาการจัดการลุ่มน้ำอิงโดยองค์กรชุมชน
หาแนวทางในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เขตอนุรักษ์พันธ์ปลาและศึกษาผลกระทบโครงการผันน้ำ
กก อิง น่าน
- พ.ศ.2545
จัดตั้ง และประสานงานโครงการเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
- พ.ศ.2545-2547
เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์
โดยยื่นจดหมายให้คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภามารับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่
พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ จนกระทั่งยุติโครงการระเบิดแก่งในส่วนของชายแดนไทย-ลาว
- พ.ศ.2547-2548
จัดทำงานวิจัยชาวบ้าน แม่น้ำโขง แม่น้ำแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
- พ.ศ.2548-2549
โครงการสื่อชุมชนลุ่มน้ำโขง เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น
แก่คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะเด็กนักเรียน
- โครงการวิทยุชุมชน
เพื่อ เผยแพร่ความรู้และเป็นสื่อกลางระดมความคิดเห็น
- โครงการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำอิงตอนปลาย-ชายฝั่งโขง
- โครงการรักษ์ปลาบึก-รักษ์แม่น้ำโขง
|
|