ประเภทกลุ่มเยาวชน
กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครปางแฟน
งานอาสาปลูกต้นไม้ในใจคน
โดย กุล ปัญญาวงค์
นักอนุรักษ์จังหวัดเชียงใหม่
คณะทำงานภูมิภาค ภาคเหนือ
กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครปางแฟน
คือเมล็ดพันธุ์ที่ที่ได้รับการเพาะบ่มทางความคิด เติบใหญ่เป็นต้นกล้า
โตขึ้นพร้อมแผ่กิ่งก้านสาขา เดินตามรอย สานต่อมาอุดมการณ์จากรุ่นสู่รุ่น
เพื่อเป็น "ยาม" เฝ้าระวังเรื่องสิ่งแวดล้อมในสังคมเมืองใหญ่ที่นับวันจะเคลื่อนตัวด้วยความเปลี่ยนแปลงทุกนาที
"ค่าย"
คำนี้อาจฟังดูคุ้ยเคยมาทุกยุคทุกสมัย จากคำว่า ค่ายอาสาพัฒนาชนบท และภาพลักษณ์ที่เด่นชัดในห้วงนึกของคนเหล่านั้น
คือหนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาร่วมแรงร่วมใจกันหาวัสดุอุปกรณ์ เงินทุนสำหรับอาหารการเดินทางและค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่จำเป็น
ออกเดินทางมุ่งหน้าพัฒนาหมู่บ้านหรือโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในชนบทห่างไกล
เช่น สร้างถนนเข้าหมู่บ้าน สร้างอาคารเรียน สร้างสนามกีฬา ห้องสมุด
หอประชุม ฯลฯ
ค่ายอาสาฯ
เป็นเสมือนบทปฏิบัติการหนึ่งของการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อทำประโยชน์ให้สังคมร่วมกับเพื่อนร่วมรุ่น
เพื่อนรุ่นพี่ อาสาสมัคร คือสมาชิกของกลุ่มหรือสถาบันนั้นๆ ที่พร้อมจะเดินทางไปด้วยกัน
ใครถนัดสิ่งไหนก็ทำส่วนนั้น หรือไปเรียนรู้เอาจากภาคสนาม สิ่งที่ได้รับอาจแตกต่างกันไป
เช่น ได้ความรักความสามัคคี สร้างความคุ้ยเคยในกลุ่มเพื่อนร่วมสถาบัน
ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชนบท ได้มีส่วนร่วมสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น
ได้ประสบการณ์ชีวิต ความภาคภูมิใจ ที่จะติดตัวชาวค่ายอาสาฯ แต่ละคนออกไปจากรั้วมหาวิทยาลัยก่อนออกไปเผชิญหน้าในโลกของผู้ใหญ่เต็มตัว
แต่ค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างจากค่ายอาสาฯ
คนจากค่ายอนุรักษ์ฯ ที่อาสามาทำค่ายจะเป็นคนที่ถูกเพาะบ่มมาก่อนในเรื่องความรู้ความเข้าใจ
และจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ จนมีความพร้อมที่จะเป็นแบบอย่างให้กับกลุ่มที่เข้าไปทำกิจกรรมด้วย
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก คนทำค่ายจะต้องถ่ายทอดความคิดของตัวเองไปสู่คนอื่น
ใช้ใจและใช้การสื่อความหมายธรรมชาติที่ละเอียดอ่อน กระตุ้นและโน้มนำคนให้รู้สึกรักธรรมชาติ
โดยใช้พื้นที่ธรรมชาติเป็นห้องเรียน ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในธรรมชาติเป็นสื่อ
นำมาสู่การเรียนรู้สัมผัสเพื่อให้เข้าใจถึงชีวิตและความเกี่ยวพันกันในระบบนิเวศ
เป็นงานปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความรักธรรมชาติ ปลูกต้นไม้ในใจคน เพื่อให้กล้าไม้ในใจเติบโตเป็นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาแก่สรรพชีวิตต่อไป
กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครปางแฟน
คือผู้ที่ได้รับการเพาะบ่มทางความคิด และเมล็ดพันธุ์นั้นได้เติบใหญ่เป็นต้นกล้า
โตขึ้นมีกิ่งก้านสาขา ในวันนี้ พวกเขาได้เดินตามรอยสานต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น
จากการเสียสละ
ปี
2537 นายสงวนและนางสวาท จันทร์ทะเล สองสามีภรรยา ได้ริเริ่มโครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติปางแฟน
เพื่อใช้เป็นสถานที่เรียนรู้ จัดกิจกรรมศึกษาธรรมชาติ เพื่อปลูกฝังความรักและความตระหนักในการอนุรักษ์ให้แก่เด็กๆ
โดยได้อุทิศตนรวมถึงทรัพย์สินส่วนตัว ด้วยความเชื่อในพลังของเยาวชน
อยากให้พ่อแม่ทุกคนให้โอกาสลูกๆ มีเวลาทำกิจกรรมนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน
เพื่อจะได้พัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ ได้เรียนรู้สังคมและสิ่งแวดล้อม
ทั้งอยากให้ผู้ใหญ่เห็นคุณค่าและพลังของเด็กๆ
เริ่มจากเด็กในครอบครัว
ญาติ เพื่อน และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอาจารย์สวาท
จันทร์ทะเล รับราชการเป็นครูชำนาญการอยู่ ได้ขยายผลไปยังกลุ่มเยาวชนทั่วไป
และกลุ่มครอบครัวของเด็ก ซึ่งสนับสนุนให้ลูกๆ มาร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนาตัวเองมาเป็นอาสาสมัครของค่ายในเวลาต่อมา
กลุ่มอาสาสมัครปางแฟน
มาจากต่างครอบครัว หลายสถาบัน หลากหลายวัย อายุตั้งแต่ 13-30 ปี แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ
ทุกคนผ่านเบ้าหลอมเดียวกัน อันได้แก่ค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติจากศูนย์ศึกษาธรรมชาติปางแฟน
เริ่มจากการรวมตัวกันเป็นสมาชิกกลุ่มปางแฟน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้และหาประสบการณ์ทางด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ต่อมาได้พัฒนาตัวเองก้าวไปสู่การทำงานอนุรักษ์อย่างจริงจังในฐานะเยาวชนอาสาสมัครปางแฟน
ครอบครัว
"ปางแฟน"
สมาชิกกลุ่มฯ
ต่างมีความรู้สึกร่วมกันคือ พบทางเลือกในการสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและเกิดประโยชน์กับสังคม
มีความสุขกับการได้สื่อให้เด็กอื่นๆ รับรู้ถึงความงามและความสำคัญของธรรมชาติ
ร่วมกิจกรรมกับชุมชนที่อยู่รอบศูนย์ฯ ปางแฟน ทำให้ชุมชน ชาวบ้าน ทั้งผู้ใหญ่
และเด็ก เข้ามามีส่วนร่วม ทำให้เด็กๆ ได้รู้จักป่าในมุมมองที่แปลกใหม่
เกิดความประทับใจ ภูมิใจในภูมิลำเนา ชุมชนมีความคิดที่จะอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมิตร
กลุ่มฯ
ทำงานร่วมกันจนกลายเป็นความอบอุ่น เป็นครอบครัวปางแฟนในโลกใบเล็ก มีการจัดระบบการทำงาน
สามารถบริหารงานและจัดทำหลักสูตรการจัดค่าย มีการสับเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนางาน
รับผิดชอบตนเองในเรื่องการเรียน ในขณะเดียวกัน งานอาสาสมัครก็มีผลสำเร็จของงานเป็นที่พอใจ
รุ่นพี่หลายคนที่จบการศึกษา มีงานทำ ยังกลับมาช่วยงานในฐานะที่ปรึกษา
สร้างสัมพันธ์ที่แนบแน่นของครอบครัวปางแฟนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้สมาชิกพัฒนาตนเองด้านการเรียน
เพื่อจะได้มีโอกาสทำงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มภาคภูมิ มีสมาชิกรุ่นต่อมาสมัครมาทำงานอาสา
เข้ามาฝึกฝนทักษะและร่วมเป็นคณะทำงานอย่างต่อเนื่อง
กิจกรรมของกลุ่ม
ได้แก่ จัดค่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และเยาวชนทั่วไป
จัดค่ายพัฒนากลุ่มเยาวชนอาสาสมัครปางแฟน ร่วมปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่ากับหน่วยงานและกลุ่มต่างๆ
ร่วมจัดกิจกรรมให้กับหน่วยงานหรือองค์การต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติปางแฟน
เป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานโรงเรียน และชุมชน รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ
เช่น จัดนิทรรศการ แสดงละครรณรงค์ เป็นที่ปรึกษา ร่วมจัดทำหลักสูตรค่ายสิ่งแวดล้อมให้แก่โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่
เช่น โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนหอพระ โรงเรียนบ้านแม่เล่า ดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานต่าง
ๆ ในรูปแบบของอาสาสมัครและคณะทำงาน เช่น โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อมดอยสุเทพ
(สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) โครงการศึกษาการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ
(สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) โครงการค่ายเยาวชนรักษ์แม่น้ำปิงและสิ่งแวดล้อม
(อบต.เหมืองแก้ว อ.แม่ริม) ประสานงานเครือข่ายภาคเหนือของเครือข่ายคนทำค่าย
(คคค.) จัดทำวารสารปางแฟน และจัดทำเว็บไซต์ศูนย์ศึกษาธรรมชาติปางแผน
(www.pangfan.org)
กิจกรรมทั้งหลายได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์กรอนุรักษ์ต่างๆ
หลายองค์กร เช่น มูลนิธิ YMCA เพื่อการพัฒนาภาคเหนือ มูลนิธิโลกสีเขียว
มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร หน่วยวิจัยพื้นฟูป่า (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
มูลนิธิโลกทัศน์ไทย ศูนย์ประสานงานองค์กรประชาชนเอกชนภาคเหนือ คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่น้ำปิงฯ
(คอปส.) ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ชมรมนักนิยมธรรมชาติ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ดำเนินมานานกว่า
10 ปี นับเป็นความภาคภูมิใจ เมื่องานของกลุ่มเป็นที่สนใจในการเข้ามาศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนหลายกลุ่ม
รวมถึงสถาบันการศึกษา เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้น พวกเขายังทำงานเชิงรุก ออกสู่ชุมชน ร่วมงานกับเครือข่ายต่างๆ
เป็นที่ปรึกษาของกลุ่มเยาวชน เป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานหรือโรงเรียนต่างๆ
รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีสาธารณะ เป็นคณะทำงานให้กับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในจังหวัดเชียงใหม่
ในขณะเดียวกันก็ที่เฝ้าระวังสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งต่อเพื่อนอาสา ต่อสังคมส่วนรวม
อาทิ คัดค้านการสร้างกระเช้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว การสร้างไนท์ซาฟารีในเมืองเชียงใหม่
โดยสื่อสารข้อมูลให้รู้ถึงความเคลื่อนไหวระหว่างเครือข่าย
เยาวชนเหล่านี้มีศรัทธาเช่นเดียวกันแม่แบบของครอบครัวปางแฟน
เขาพวกหวังให้ครอบครัวอื่นๆ ให้โอกาสลูกๆ ได้ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน
ให้เด็กๆ ได้แสดงพลัง จุดมุ่งหมายในวันข้างหน้า คือการขยายเครือข่ายอนุรักษ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
อันจะส่งผลถึงความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำหรับครอบครัวปางแฟน
สำหรับ
"ปางแฟน" งานปลูกต้นไม้ในใจคน...ยังไม่จบ
ชื่อกลุ่มเยาวชน
: กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครปางแฟน
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติปางแฟน
บ้านแม่เลา หมู่ 5 ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ www.pangfan.org
ผู้ประสานงาน : นางสาวนริสา พงษ์โสภา
16/2 ซอย 4 ถนนมูลเมือง ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร. 05 321 1746, 01 885 8270
จำนวนสมาชิก : แกนนำ 38 คน
ลักษณะสมาชิก : กลุ่มอาสาสมัครปางแฟน มาจากหลายสถาบัน
หลากหลายวัย อายุตั้งแต่ 13-30 ปี
ระยะเวลาดำเนินงาน : ปี 2537-ปัจจุบัน
กิจกรรม :
- ค่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม
และค่ายพัฒนากลุ่มเยาวชนอาสาสมัครปางแฟน
- ปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่ากับหน่วยงานและสถาบันต่างๆ
- ร่วมจัดกิจกรรมทั้งในและนอกพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติปางแฟน
- เป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานโรงเรียน
และชุมชน จัดกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ เช่น จัดนิทรรศการ
แสดงละครรณรงค์
- เฝ้าติดตามโครงการต่างๆ
ที่มีผลกระทบในระยะยาวต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสังคม ในจังหวัดเชียงใหม่
- เป็นที่ปรึกษาร่วมจัดทำหลักสูตรค่ายสิ่งแวดล้อมให้แก่โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่
- เป็นอาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กรต่างๆ
- จัดทำวารสารปางแฟน
- จัดทำเว็บไซต์ศูนย์ศึกษาธรรมชาติปางแผน
www.pangfan.org
|
กลับหน้า
ประจำปี 2548
|